พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย 

(ฉบับที่ ๒)

พ.ศ. ๒๕๔๔


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๔

เป็นปีที่ ๕๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
           โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย
           พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙
ประกอบกับมาตรา ๓๑ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดย
อาศัย อำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
ดังต่อไปนี้

           มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๔”

           มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

           มาตรา ๓ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี” ระหว่างบทนิยามคำว่า “ฉลาก” และคำว่า “คณะกรรมการ” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังต่อไปนี้

“ “อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี” หมายความว่า อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามพัฒนา ผลิต สะสม และใช้อาวุธเคมี และว่าด้วยการทำลายอาวุธเหล่านี้ ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖”

           มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕/๑ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕

           “มาตรา ๑๕/๑ ในการมีมติหรือการให้ความเห็นของคณะกรรมการ การให้ความ เห็นชอบของ รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายอื่น และการออกประกาศของรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ
รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คำนึงถึงอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี
และ สนธิสัญญาและข้อผูกพันระหว่างประเทศอื่นประกอบด้วย”

           มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗๔/๑ และมาตรา ๗๔/๒ แห่งพระราชบัญญัติ วัตถุอันตราย  พ.ศ. ๒๕๓๕

           “มาตรา ๗๔/๑ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดซึ่งมีโทษตามมาตรา ๗๓ หรือมาตรา ๗๔
ในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ หรือชนิดที่ ๔ซึ่งเป็นสารเคมีพิษหรือสารที่ใช้ผลิตสารเคมีพิษที่ระบุ ในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตามมาตรา ๑๘ ต้อง
ระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

          มาตรา ๗๔/๒ การกระทำความผิดตามมาตรา ๗๓ หรือมาตรา ๗๔ ในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ ๓ หรือชนิดที่ ๔ ซึ่งเป็นสารเคมีพิษหรือสารที่ใช้ผลิตสารเคมีพิษที่ระบุในสัญญาห้ามอาวุธเคมี ตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตามมาตรา ๑๘ หากผู้กระทำความผิดมีสัญชาติไทย แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร

          ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก ถ้า

(๑) ได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือ

(๒) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษและผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว

          ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้นตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาแล้ว แต่ยังไม่พ้นโทษ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ หรือจะไม่ ลงโทษเลยก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้นได้รับมาแล้ว”

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

        นายกรัฐมนตรี

เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๑๐๖ ก   ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามพัฒนา ผลิต สะสม และใช้อาวุธเคมี และว่าด้วยการทำลายอาวุธเหล่านี้ ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวกำหนด มาตรการควบคุมเกี่ยวกับการผลิต ได้มา จัดเก็บ ใช้ และโยกย้ายสารเคมีพิษและสารที่ใช้ผลิตสารเคมีพิษที่ระบุในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี ในอาณาเขตของบรรดารัฐภาคีและรัฐนอกภาคี รวมทั้งกำหนดให้รัฐภาคีออกกฎหมายที่มีโทษทางอาญาเพื่อใช้บังคับกับ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ที่อยู่ในอาณาเขตหรือ เขตอำนาจของรัฐภาคีที่กระทำการละเมิดมาตรการดังกล่าว และให้ขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย ให้ครอบคลุมถึงการกระทำที่ต้องห้ามตามอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีของบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติของรัฐภาคี ซึ่งกระทำนอกอาณาเขต ของรัฐภาคีด้วย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ในเรื่องมาตรการในการควบคุม การกระทำใด ๆ เกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่เป็นสารเคมีพิษหรือสารที่ใช้ผลิตสารเคมีพิษที่ระบุในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี และบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับ พันธกรณีตามอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

[ HOME ]